G027SA Sulfuric acid 98% : กรดซัลฟิวริก (กรดกำมะถัน)
CAS Number : | 7664-93-9 |
Formula : | H2SO4 |
Appearance : | Clear oily liquid. |
Molecular Weight : | 98.08g/mol |
pH. : | 1.2 |
Assay : | 98% Min |
รายละเอียดทั่วไป
กรดซัลฟิวริก (Sulfuric acid) หรือกรดกำามะถัน เป็นชื่อทางเคมีที่รู้จักกันดี นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก เช่น hydrogen sulfate, oil of virtriol, virtriol brown oil, dipping acid สูตรโมเลกุล คือ H2SO4น้ำหนัก โมเลกุล 98.08 ลักษณะทั่วไปจะเป็นของเหลวใสคล้ายน้ำมัน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีความหนืด จัดเป็นกรดแก่อย่างแรง ละลายในน้ำได้ดี
กรดซัลฟิวริกเป็นเคมีภัณฑ์พื้นฐานสำคัญที่มีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเคมีต่างๆ เช่น ใช้ในการผลิตปุ๋ย เคมีภัณฑ์ปิโตรเลียม การผลิตแร่ การสังเคราะห์สารเคมี และใช้ในการบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น แม้ว่าในกระบวนการผลิตจะสามารถผลิตกรดซัลฟิวริกให้มีความเข้มข้นได้ใกล้เคียงร้อยละ 100 แต่จะมีการสูญเสียซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ที่จุดเดือดทำให้กรดซัลฟิวริกที่ได้เหลือความเข้มข้นประมาณร้อยละ 98.3 ซึ่งจะมีเสถียรภาพในการเก็บรักษา กรดซัลฟิวริกที่ความเข้มข้นนี้จะเรียกว่า กรดซัลฟิวริกเข้มข้น
ประโยชน์ของกรดซัลฟิวริก
1. ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารเคมี
2. ใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา
3. ใช้เป็นตัวปรับสภาพค่าพีเอช ในกระบวนการผลิต
4. ใช้เป็นตัวสกัดแร่
5. ใช้เป็นตัวทำความสะอาดชิ้นงาน
6. ใช้เป็นสารอิเล็กโตรไลต์
ตัวอย่าง อุตสาหกรรมเคมีที่มีการนำกรดซัลฟิวริกไปใช้
1. อุตสาหกรรมการผลิตคาโปแลคตัม
คาโปแลคตัม มีสูตรทางเคมี C6H10NO เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต Nylon-6 ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ในอุสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ อุปกรณ์การประมง และพลาสติกในชิ้นส่วนยานยนต์ กระบวนการผลิตคาโปแลคตัมเป็นกระบวนการโพลีเมอไรเซชันเชิงซ้อน โดยมีวัตถุดิบหลัก คือ แอมโมเนีย กรดซัลฟิวริกหรือโอเลียม ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไซโคลเฮกเซน โดยกรดซัลฟิวริกหรือโอเลียม ไฮดรอกซิลเอมีน และไซโคลเฮกซาโนน ทำปฏิกิริยากันได้คาโปแลคตัมและแอมโมเนียมซัลเฟต ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ย
2. อุตสาหกรรมการผลิตเส้นใยวิสโคเรยอน
การผลิตเส้นใยวิสโคเรยอนประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการเตรียมวิสโคส โดยนำเยื่อเซลลูโลสซึ่งอยู่ในรูปเยื่อกระดาษ มาเติมโซดาไฟเพื่อทำให้เป็นเยื่อด่าง นำเยื่อด่างมาปรับสภาพให้เหมาะสมแล้ว จึงนำมาทำปฏิกิริยากับสารคาร์บอนไดซัลไฟด์ เพื่อเปลี่ยนเยื่อด่างให้เป็นเซลลูโลสแซนเทต ละลายด้วยด้วยโซดาไฟจะได้สารละลายที่เรียกว่า วิสโคส ซึ่งจะนำไปใช้ในขั้นตอนการฉีดเส้นใย โดยจะทำปฏิกิริยากับกรดซัลฟิวริกได้เป็นเส้นใยเซลลูโลส โซเดียมซัลเฟตและคาร์บอนไดซัลไฟด์
3. อุตสาหกรรมการผลิตสารส้มชนิดอะลูมิเนียมซัลเฟต
การผลิตอะลูมิเนียมซัลเฟตซึ่งเป็นสารส้มชนิดหนึ่งที่นิยมใช้เป็นสารตกตะกอนในการผลิตน้ำประปาและในระบบบัดน้ำเสีย โดยผลิตจากปฏิกิริยาระหว่างอะลูมินา (Al2O3) และกรดซัลฟิวริก ได้เป็นอะลูมิเนียมซัลเฟต ดังสมการ
Al2O3 + 3H2SO4+ xH2O Al2(SO4)3+ (x+3)H2O
ความเป็นอันตราย
1. หากสัมผัสกับผิวหนังจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างแรง ผิวหนังแดง เป็นแผลไหม้ แสบร้อน และเกิดการผุผองตามมา
2. การสัมผัสกับตาจากไอหรือสารละลายจะทำให้ระคายเคืองตาอย่างรุนแรง เยื่อตา กระจกตาอักเสบ และอาจทำให้ตาปอดได้
3. การสูดดมไอระเหยจะทำให้ระคายเคืองต่อเยื่อบุผิวในระบบทางเดินหายใจ รู้สึกแสบร้อนตามจมูก ลำคอ หายใจถี่ และอาจเกิดภาวะขาดออกซิเจนทำให้เสียชีวิตได้
4. การกินจะทำให้ระบบทางเดินอาหารระคายเคือง เยื่อบุของอวัยวะอักเสบ ปัสสาวะน้อย และอาจช็อคเสียชีวิตได้
กรดซัลฟูริกที่มีความเข้มข้นมากกว่า 50% โดยน้ำหนัก จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตาม พ.ร.บ. ที่ต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมสำหรับการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการครอบครอง
ข้อแนะนำ
1. ขณะใช้งานควรสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากสารเคมี เช่น ผ้าปิดจมูก ถุงยางมือ รองเท้าบูท แว่นตาป้องกันสารเคมี และสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด
2. ห้ามเทน้ำลงกรดที่มีความเข้มข้นสูง เพราะจะเกิดปฏิกิริยาออกซิไดซ์อย่างรุนแรงซึ่งจะทำให้กรดฟุ้งกระเด็น และเกิดความร้อนอย่างรวดเร็ว
3. สถานที่ปฏิบัติควรมีพัดลมดูดหรือระบายอากาศ เช่น ฮูทดูดอากาศ
4. ห้ามเก็บกรดในภาชนะโลหะ และควรเก็บให้ห่างจากโลหะต่างๆ
5. ห้ามเก็บกรดใกล้แสงแดดหรือแหล่งความร้อน
6. กรุณาศึกษาข้อมูลสารเคมีจากเอกสาร MSDS (Material Safety Data Sheet) เอกสารความปลอดภัยให้เข้าใจก่อนการนำไปใช้
การจัดเก็บ
- เก็บในภาชนะบรรจุที่ปิดมิดชิด
- เก็บในบริเวณที่เย็นและแห้ง
- เก็บในบริเวณที่มีการระบายอากาศเพียงพอ
- เก็บห่างจากแสง ไอน้ำ เบสแก่ สารประกอบอินทรีย์
- เก็บภาชนะบรรจุสารไว้ในบริเวณเก็บสารเคมีที่เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการหายใจและการสัมผัสถูกผิวหนังและตา
ข้อมูลสินค้า
ประเทศผู้ผลิต : ประเทศไทย
ชื่อทั่วไป : กรดซัลฟิวริก / ซัลฟูริก (Sulfuric), เอสิด มิสต์ (Sulfuric Mist), ไฮโดรเจนซัลเฟต (Hydrogen Sulfate), ซัลเฟอร์ เอสิด (Sulfur acid), ซัลฟูริก เอสิด (Sulfuric acid) และ สเปนต์ (Spent)
ชื่อทั่วไป : กรดซัลฟิวริก / ซัลฟูริก (Sulfuric), เอสิด มิสต์ (Sulfuric Mist), ไฮโดรเจนซัลเฟต (Hydrogen Sulfate), ซัลเฟอร์ เอสิด (Sulfur acid), ซัลฟูริก เอสิด (Sulfuric acid) และ สเปนต์ (Spent)