K001CS Chia Seed : เมล็ดเจีย
รายละเอียดทั่วไป
เมล็ดเจีย (Chia Seeds) เป็นเมล็ดธัญพืชชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กคล้ายเม็ดแมงลัก ลักษณะเป็นรูปไข่ มีสีหลากหลาย เช่น สีขาว สีดำ บางครั้งมีลายเป็นจุดสีน้ำตาล น้ำตาลเข้ม สีครีม ดำ และขาว สามารถรับประทานได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแปรรูป และด้วยรสชาติอ่อน ๆ คล้ายถั่ว เข้ากับอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ง่าย จึงนิยมนำมาโรยบนเมนูต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย เช่น ซีเรียล สลัดผัก เมนูข้าว เมนูขนมปังอบทั้งหลาย หรือจะผสมกับโยเกิร์ตและเมนูเครื่องดื่มก็ได้
เมล็ดเจียอุดมด้วยสารอาหารสำคัญอย่างกรดไขมันโอเมก้า 3 คาร์โบไฮเดรต โปรตีน เส้นใยอาหาร แคลเซียม และสารต้านอนุมูลอิสระ
ด้วยสารอาหารทรงคุณค่าเหล่านี้เองที่ทำให้เชื่อกันมากว่าเมล็ดเจียอาจช่วยรักษาโรคหรือบำรุงสุขภาพในด้านต่าง ๆ แต่ก็เช่นเดียวกับอาหารและสมุนไพรหลากหลายชนิดที่ล้วนยังไม่มีการศึกษามากพอจนสามารถระบุคุณประโยชน์ได้อย่างชัดเจน
โดยปัจจุบันคุณประโยชน์ของเมล็ดเจียที่พอจะมีงานวิจัยกล่าวถึง มีดังนี้
ช่วยลดน้ำหนัก คุณประโยชน์ยอดนิยมข้อนี้ถูกกล่าวถึงกันอย่างแพร่หลาย เพราะด้วยคุณสมบัติพองตัวออกเมื่อถูกแช่ในน้ำ ทำให้เชื่อว่าเมล็ดเจียที่รับประทานเข้าไปนั้นจะขยายตัวภายในท้อง จนรู้สึกอิ่มและรับประทานได้น้อยลง ส่งผลให้น้ำหนักลดลงในที่สุด อีกทั้งมีเส้นใยอาหารและกรดอัลฟาลีโนเลนิก (Alpha-linolenic) ที่คาดว่าอาจมีส่วนช่วยลดน้ำหนัก ไขมัน และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจากภาวะอ้วน
การศึกษาหนึ่งทดลองโดยให้อาสาสมัครทั้งชายและหญิงที่มีภาวะอ้วนแต่สุขภาพดี จำนวน 76 คน อายุตั้งแต่ 20-70 ปี แบ่งกลุ่มรับประทานยาหลอกหรือเมล็ดเจีย 25 กรัม ผสมในน้ำ 0.25 ลิตร วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารมื้อแรกและมื้อสุดท้ายของวัน ติดต่อนาน 12 สัปดาห์ ผลลัพธ์ไม่ปรากฏว่าเมล็ดเจียช่วยให้ดัชนีมวลกายหรือองค์ประกอบร่างกายดีขึ้น รวมถึงปัจจัยการเกิดโรคต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในช่วงหลังที่พบผลลัพธ์ไปในทางที่ดีก็มีให้เห็นเช่นกัน ดังงานวิจัยหนึ่ง พบว่าการรับประทานเมล็ดเจียวันละ 35 กรัม นาน 12 สัปดาห์ ช่วยให้หญิงและชายจำนวนหนึ่งลดน้ำหนักและขนาดรอบเอวลงได้ โดยมีระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมลดลง มีไขมันชนิดดีเพิ่มขึ้น แต่ก็เฉพาะในกลุ่มที่รับประทานเมล็ดเจียบดและมีค่าเริ่มต้นผิดปกติ ส่วนระดับน้ำตาลในเลือด ไขมันไตรกลีเซอไรด์ และไขมันชนิดไม่ดีนั้นไม่พบการเปลี่ยนแปลง
เช่นเดียวกับอีกงานวิจัยที่เจาะจงทดลองกับเมล็ดเจียชนิดซัลบา ด้วยการให้ผู้ป่วยภาวะอ้วนที่มีโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 77 คน จำกัดการรับประทานอาหารแคลอรี่สูงนาน 6 เดือน หลังจากนั้นให้กลุ่มหนึ่งรับประทานเมล็ดเจียซัลบาวันละ 30 กรัมต่อพลังงาน 1,000 แคลอรี่ ส่วนกลุ่มควบคุมรับประทานรำข้าวโอ๊ตในปริมาณใกล้เคียงกัน ซึ่งผลชี้ว่ากลุ่มเมล็ดเจียมีน้ำหนักลดลง และรอบเอวเล็กลงมากกว่า
เมล็ดเจียค่อนข้างมีความปลอดภัยต่อร่างกาย หากรับประทานเป็นเวลาไม่เกิน 12 สัปดาห์ หรือเมื่อใช้น้ำมันเมล็ดเจียทาลงบนผิวหนังติดต่อกันไม่นานกว่า 8 สัปดาห์ ส่วนการใช้ในระยะที่ยาวกว่านี้ยังไม่มีข้อมูลที่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในภาวะต่อไปนี้ยังควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
**ข้อควรระวัง**
- หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่อาจยืนยันได้ว่าการใช้เมล็ดเจียระหว่างการตั้งครรภ์หรือเมื่อให้นมบุตรจะปลอดภัย ทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานในช่วงนี้
- การรับประทานเมล็ดเจียบางชนิดอาจส่งผลให้ไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ ผู้ที่มีไขมันชนิดนี้สูงอยู่แล้วจึงควรเลือกรับประทานเฉพาะเมล็ดเจียชนิดซัลบา (Salba) ซึ่งจะไม่ทำให้ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้นมากนัก
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเมล็ดเจียในปริมาณมาก เพราะในเมล็ดเจียประกอบด้วยกรดอัลฟาลิโนเลนิกจำนวนมาก และมีงานวิจัยที่กล่าวว่าการได้รับกรดชนิดนี้มาก ๆ จากอาหารอาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้
ทั้งนี้ ปริมาณการรับประทานเมล็ดเจียที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น อายุ สุขภาพโดยรวม หรือโรคประจำตัวของผู้ที่รับประทาน ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์จากเมล็ดเจียใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้แน่ใจ และอ่านคำแนะนำบนฉลากอย่างถ้วนถี่เสมอ